จุดที่แตกต่าง

จุดแตกต่างที่สำคัญระหว่างลำโพงมโหรีกับลำโพงอื่นๆ คือเป้าหมายในการออกแบบ สำหรับลำโพงมโหรี สิ่งที่ต้องการคือใช้ฟังเพลงเก่า รวมทั้งเพลงเก่าที่บันทึกเสียงใหม่โดยวงดนตรีหรือนักร้องใหม่ ให้ได้เสียงถูกต้องตามที่เป็นจริงในยุคนั้นๆ สำหรับลำโพงอื่นๆก็มีเป้าหมายแตกต่างกันออกไปตามแนวความคิดของผู้ออกแบบแต่ละคน

ตามรูปประกอบ จะเห็นความแตกต่างหลักๆคือ บริเวณที่เป็นสีเหลืองของรูปบนจะมีช่วงกว้างกว่ารูปล่าง สีเหลืองในที่นี้ใช้แทนการทำงานของดอกลำโพง (Driver) เสียงกลาง ในลำโพงมโหรีจะใช้ดอกลำโพงเสียงกลางชนิด Fullrange ส่วนลำโพงทั่วไปจะใช้ชนิด Midrange ซึ่งจะทำงานในช่วงความถี่ที่แคบกว่า

ยุคแรกที่มีการประดิษฐ์ลำโพง ก็ย่อมจะใช้ดอกลำโพงตัวเดียวก่อน แล้วจึงค่อยๆพัฒนาให้สามารถสร้างเสียงได้ครอบคลุมย่านความถี่ที่กว้างขึ้น ได้เสียงแหลมมากขึ้น ทุ้มมากขึ้น แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพ เช่นขนาดและวัสดุที่ใช้ เพียงชิ้นเดียวอย่างเดียว ย่อมไม่สามารถที่จะสร้างเสียงได้ทุกความถี่ เสียงทุ้มต่ำก็ต้องขนาดใหญ่ เสียงแหลมสูงก็ต้องขนาดเล็ก จึงต้องมีดอกลำโพงที่สามารถสร้างเสียงทุ้ม (woofer) และแหลม (tweeter) โดยเฉพาะมาเสริม จึงได้เสียงครบทุกความถี่

แต่เมื่อมีข้อดี ก็ย่อมจะมีข้อเสีย ซึ่งก็คือจะรอยต่อของเสียงระหว่างดอกลำโพงแต่ละตัว ซึ่งมีผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง มีคลื่นเสริม คลื่นหักล้าง มีความเพี้ยนตรงรอยต่อนี้ ทำให้มีการออกแบบตัวตัดกรองความถี่แบบต่างๆมากมาย ซึ่งก็ได้เสียงแบบต่างๆ ไม่มีแบบใดดีที่สุด ขึ้นอยู่กับรสนิยมการฟังเพลง ทุกวันนี้จึงยังมีการออกแบบลำโพงกันอยู่ โดยที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ยุค 1920 และยังมีนักดีไอวายลำโพงอยู่ทั่วโลกที่ทำลำโพงเพื่อให้มีเสียงตามรสนิยมการฟังเพลงของตัวเอง

สำหรับลำโพงมโหรี เราเลือกจุดตัดความถี่ต่ำที่ช่วง 200Hz ตัดความถี่สูงที่ 16000Hz ต่างจากลำโพงสมัยใหม่ส่วนใหญ่ที่ตัดที่ประมาณ 600Hz และ 5000Hz เนื่องจากเราไม่ต้องการให้มีรอยต่อตรงช่วงเสียงกลางซึ่งเป็นเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่เป็นโน้ตสำคัญ ซึ่งเหมาะสมกับเพลงเก่า (ก่อน 1980) ที่แต่งและบันทึกเสียงมาให้เหมาะกับลำโพงแบบนี้เช่นกัน

BACK TO TOP